มองเผินๆ 'บ้านมาบจันทร์' ชุมชนเล็กๆ ในตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อาจดูไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ ในละแวกนั้นสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิประเทศแบบพื้นที่ลุ่ม-ดอน ที่โอบน้ำด้วยแนวเขา ปกคลุมไปด้วยความเขียวชอุ่มของผืนป่า สลับกับพืชไร่ พืชสวน ที่มีทั้งพืชผักผลไม้ที่ชาวบ้านเก็บกินเก็บขาย หมุนเวียนสร้างรายได้ตลอดทุกฤดูกาล ใครจะรู้ว่าสิ่งที่เห็นในปัจจุบัน กับภาพในอดีต ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อนหน้านี้ สภาพความเป็นอยู่ของคนที่เรียกตัวเองว่าชาวเขา ที่ต้องเผชิญหน้ากับไฟป่า และปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในช่วงหน้าแล้ง ย้อนเวลากลับไปรู้จักความเป็นมา กว่าจะผ่านวิกฤติใหญ่ มาเป็น ‘บ้านมาบจันทร์ แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ’ ที่หลายคนรู้จักและประทับใจ จากปากของชาวบ้านหัวใจนักสู้แห่งนี้ด้วยกันครับ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 บ้านมาบจันทร์ ชุมชนเล็กๆ บริเวณเทือกเขายายดาแห่งนี้ เคยประสบกับปัญหาใหญ่ ทั้งในเรื่องภัยแล้งที่ก่อให้เกิดไฟป่า ในหน้าฝนก็ไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ จึงทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ส่งผลให้ต้องซื้อน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในทุกปี สิ่งที่ยังคงหลอมรวมใจชาวบ้านเอาไว้ก็คือความสามัคคีกลมเกลียว และการเสียสละของผู้นำชุมชนที่ยืนหยัด คิดหาทางบำบัดแก้ไขเพื่อให้บ้านมาบจันทร์แห่งนี้พ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้
“เมื่อก่อนเราคิดว่าเราเป็นพวกชาวเขา ไม่มีที่เพาะปลูก ไม่มีที่ทำกิน ทุกหน้าแล้งต้องรับมือกับไฟป่า และภาวะการ ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ ความทุกข์ยากจึงทำให้เราต้องรวบรวมพลังกันต่อสู้ จึงเริ่มรวมกลุ่มทั้งผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านศึกษาหาความรู้เรื่องป่า และเข้าขอความช่วยเหลือจากกรมป่าไม้ ในที่สุดก็ได้เข้าร่วมในโครงการปลูกป่า ในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ จำได้ดีว่าชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ทุกคนแม้แต่ภิกษุสามเณรก็ยังมาร่วมด้วยช่วยกันปลูกป่า จนเราได้พื้นที่ป่ามากว่า 700 ไร่ เมื่อป่าสมบูรณ์ ประกอบกับเราเริ่มเรียนรู้รับมือกับไฟป่าได้ ก็เหลือแต่ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เราก็หาข้อมูลกันต่อว่าจะบริหารจัดการน้ำยังไง เก็บน้ำในช่วงฝนยังไง
จนได้ไปเห็นในทีวี ว่ามีโครงการทำฝายที่ลำปาง ก็คิดทันทีว่าทำยังไงจะทำฝายได้บ้าง เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เลยแนะนำให้เราไปคุยกับ SCG โดยตรง ดีใจมากที่เขาให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดี ที่นี้ก็หน้าที่เราที่จะต้องให้ความรู้กับชาวบ้าน ชวนทุกคนมาช่วยกันทำฝายด้วย 2 มือเรา ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน แรกๆทำฝายปูน พอโดน้ำพัดก็พังทลาย จนได้คำปรึกษาจาก SCG ให้เราทำฝายจากวัสดุท้องถิ่นที่เรามี จนเรามีวันนี้ฝายบนเขา ฝายทดน้ำ ฝายชะลอน้ำตั้งแต่ต้นจนปลายน้ำ เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ ให้ในที่นี้คือให้ทั้งความช่วยเหลือการขาดแคลนน้ำของหมู่บ้านใกล้เคียง และให้ความรู้เรื่องการทำฝายกับใครก็ตามที่อยากเรียนรู้อีกด้วย”
ผู้ใหญ่วันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ หนึ่งในผู้นำชุมชนผู้ปลุกระดมความรักและพลิกฟื้นชุมชนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
โครงการทำฝายของ SCG คือหนึ่งในโครงการด้านการรับผิดชอบของสังคมที่เริ่มต้นมาจากทำกิจกรรมเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวาระที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปี 2550 ภายใต้ชื่อโครงการ "SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต" จุดเริ่มต้นของโครงการนี้คือการที่ SCG ได้เข้าศึกษาการอนุรักษ์น้ำที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และได้ค้นพบหัวใจสำคัญของการอนุรักษ์น้ำ ซึ่งก็คือการสร้างฝายชะลอน้ำเป็นต้นมา
หลักการทำงานของโครงการนี้ของ SCG คือมุ่งเน้นการเข้าไปคำปรึกษาและร่วมมือกับชุมชน ตั้งแต่กระบวนการชี้ให้เห็นความสำคัญของป่า และน้ำ ไปจนถึงความรู้ในการสร้างฝาย ลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบ หลักการ และวัสดุในการสร้างฝาย ชุมชนเขายายดาแห่งนี้จึงใช้หิน ซึ่งเป็นวัสดุประจำท้องถิ่นที่หาได้ง่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนกว่าของการสร้างฝายที่ชาวบ้านสามารถทำเอง ทำได้ ซ่อมแซม และทำทดแทนได้ง่ายและประหยัดกว่า
“ต้องใช้คำว่าบ้านมาบจันทร์คือชุมชนตัวอย่าง ที่เห็นความสำคัญของการดูแลป่าต้นน้ำมาตั้งแต่แรก เข้าใจถึงกระบวนการที่เราจะมีน้ำ รักษาน้ำได้ ต้องเกิดจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ธรรมชาติที่สมบูรณ์ โครงการทำฝายที่นี่ก็เลยเกิดขึ้นโดยมีผู้นำชุมชนเป็นคนขับเคลื่อน"
“สิ่งที่ SCG ทำหลักๆ ก็คือการนำองค์ความรู้มาให้ มีนักวิชาการมาดูจุดที่เหมาะสม การสร้างด้วยวัสดุแบบไหน และคำนวณการกักเก็บน้ำให้ยั่งยืนและเหมาะสมกับชุมชน แรกๆ ในขั้นตอนทดลอง เราเองก็ร่วมกันถอดบทเรียนไปพร้อมๆ กับชุมชน ปรับเปลี่ยนแปลงวัสดุ วิธีการให้เหมาะสม ซึ่งวัสดุที่เป็นคำตอบของที่นี่ก็คือการทำฝายหิน ที่ตอบโจทย์ทั้งความง่าย งบประมาณไม่สูง ทำเพิ่ม ทดแทน ซ่อมแซม ได้ไม่ยาก เมื่อฝายทำงานได้ เราก็ยังประสานงานกับหน่วยงานราชการ ต่อยอดความรู้ใหม่ๆ เรื่องการวิจัยน้ำ เก็บข้อมูลสถิติของน้ำ เพื่อสร้างนักวิจัยประจำชุมชนต่อไป ซึ่งนี่คือสิ่งที่เรามุ่งเน้นให้กับชุมชนค่ะ”
คุณณัฐนันท์ คงคาหลวง ตำแหน่ง Deputy CSR Manager จาก ธุรกิจ เคมิคอลส์ เอสซีจี
และก็มาถึงหน้าที่ของนักวิจัยน้ำประจำหมู่บ้าน ผู้ที่ต้องเดิมพันกับความเป็นไปของน้ำ ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับการอุปโภค บริโภค และบริหารให้เกิดการหมุนเวียนน้ำใช้ได้ตลอดปี หน้าที่นี้จึงตกไปอยู่ที่ประธานประปาหมู่บ้านที่ต้องมีการจัดระบบ ระเบียบของการใช้น้ำ ด้วยการสร้างจุดเก็บ จุดพักน้ำ และระบบบำบัด เพื่อกำหนดรูปแบบการใช้น้ำของชาวบ้านให้สมบูรณ์และสมดุลให้ได้
“ผมรับหน้าที่เป็นประธานประปาหมู่บ้านมาก็น่าจะ 10 กว่าปีแล้วนะ หน้าที่ของผมคือทุกเที่ยงคืนจะต้องเดินออกมาตรวจสอบระบบไฟจากหน่วยจ่ายและพักน้ำตรงนี้ ว่าไฟมันยังติดดีไหม มีอะไรเสียหายหรือเปล่า ที่ต้องตรวจดูเป็นกิจวัตรก็เพราะห่วงชาวบ้านในหมู่บ้านจะไม่มีน้ำใช้ ยิ่งหลายบ้านที่ต้องออกไปทำงานตอนเช้า ก็กลัวเค้าจะไม่มีน้ำกินน้ำอาบ และที่ต้องดูบ่อยๆอีกจุดก็คือดูเรื่องถังกรอง ว่ายังสะอาดไหม ได้เวลาล้างหรือยัง เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำในหมู่บ้านเราใสแจ๋ว จนหลายคนที่มาดูงานจากหมู่บ้านอื่นชม
อย่างบางปีที่เราเจอช่วงเวลาวิกฤตแล้งมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงมีนา-เมษา เราคำนวณแล้วว่าปริมาณที่มีเก็บน้อยกว่าที่เราคาดไว้ ซึ่งอาจส่งผลได้กับชาวบ้าน 260 ครัวเรือนของเรา ผมก็เลยคิดค้นทำคู่มือการใช้น้ำประปาฉบับเฉพาะกิจเพื่อรณรงค์ให้ชาวบ้านช่วยกันประหยัดน้ำในช่วงนั้นๆ อธิบายง่ายๆก็คือปกติน้ำประปาที่นี่ราคาลูกบาศเมตรละ 8 บาท ถ้าบ้านไหนใช้น้ำเกิน 30 ลูกบาศก์เมตร เราจะก็ขอคิดราคาเพิ่มจาก 8 เป็น 15 บาท แล้วมันก็ได้ผลจริงๆ ช่าวบ้านร่วมมือกันประหยัด พอพ้นช่วงดักวิกฤตภัยแล้งเอาไว้ 2-3 เดือนนั้น เราก็กลับมาใช้น้ำในราคา 8 บาทได้ตามเดิม ซึ่งชาวบ้านก็ชอบใจกับวิธีนี้”
อบต.ธงชัย พงษ์ศิลา ประธานประปาหมู่บ้าน หมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการการใช้น้ำของหมู่บ้าน
ปัจจุบัน แม้ปัญหาในบ้านมาบจันทร์จะทุเลาเบาบางลงได้จากความร่วมมือร่วมใจของทุกคน แต่ชาวบ้านต่างก็ไม่นิ่งนอนใจ วางกำลังคนในชุมชนเพื่อการตรวจตราความสงบของผืนป่า และความสมบูรณ์ของฝายเพื่อให้เกิดการแก้ไขได้ทันทาวงที ทั้งนี้ยังต่อยอดไปถึงการพัฒนา เพิ่มศักยภาพด้านอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพใหม่ๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี
“ผมรวมกลุ่มคนขับเอนดูโร่ขึ้นมา เพื่อเป็นหูเป็นตา ดูแลความสงบเรียบร้อยรอบๆ ชุมชน หน้าที่หลักๆ คือขี่มอเตอร์ไซด์วิบาก ขึ้นไปดูป่า ขี่ไปบนเนินเขา ดูว่ามีตรงไหนแล้ง ต้นไม้ต้นไหนดูแห้งที่จะมีไฟได้ไหม ดูสภาพฝายแต่ละจุดว่ายังใช้งานได้ไหม แตกหักเสียหายหรือไม่ เพื่อวางแผนการซ่อมแซม ทุกวันนี้มีอีกหนึ่งหน้าที่คือการพานักท่องเที่ยวชมป่าบ้านเรา เพราะคนมาเที่ยวเขาเอาไปบอกต่อว่าที่นี่มีมอเตอร์ไซด์วิบากขี่พาชมวิวในป่าได้ (หัวเราะ)
ก็พอหมู่บ้านเราดี มีป่า มีน้ำใช้ อะไรรอบมันก็ดีไปหมด สัตว์ใหญ่ หายากอย่างพวกหมีก็กลับมาได้อาศัยป่าอยู่กิน ผลไม้ที่เคยปลูกแล้วตายเพราะขาดน้ำ ก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ ตอนนี้มองไปบ้านไหน ก็จะเห็นทุกบ้านมีสวนผลไม้ทุเรียน ลองกอง ลำไย เงาะ ออกทุกปีให้ชาวบ้านมีกิน มีรายได้ เลยไม่แปลกใจที่มีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามามากขึ้น ส่วนใหญ่ที่มาก็จะชอบชอบธรรมชาติ มากินมานอนมาดูวิถีชาวบ้านที่โฮมสเตย์ ก็เลยค่อยๆ มีการคิดกิจกรรมให้ไปดูการทำฝาย ไปดูป่า ไปดูวิธีการปลูก การทำ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเด่นๆ ก็เป็นเรื่องที่ชอบใจเพราะทำให้ทุกคนในชุมชนอยู่ได้”
อบต. จรูญ สุทัดสันต์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหน่วยลาดตระเวน ตรวจตราความสงบเรียบร้อยของผืนป่า และผู้ที่เรียกตัวเองว่าของชุมชนบ้านมาบจันทร์
สนใจเข้าศึกษา และเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศบ้านมาบจันทร์ ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่วันดี อินทร์พรม โทรศัพท์ +66 8 9248-1204
TOPIC: ฝายให้ชีวิต ชุมชนที่ลิขิตแหล่งน้ำด้วยสมองและสองมือ 'มาบจันทน์'
CREATIVE CONTENT: Kasama N.
STORY: Praphatsorn M.
PHOTO: Wirittipon W.