“คลองผดุงกรุงเกษม” คลองเชื่อมเมืองคุ้นหูที่ผู้สัญจรไปมาในเขตพระนครต่างก็รู้จัก สัญลักษณ์ของเส้นทางเดินเรือบนเกาะรัตนโกสินทร์ที่ไม่ได้มีดีแค่ความเก่าแก่ เพราะอีกหลากแง่มุมน่าสนใจของเส้นทางการเดินเรือสายประวัติศาสตร์สายนี้ มีหลายเรื่องราวที่เชื่อมบทบาทในอดีต สู่บริบทปัจจุบัน ลงเรือไปทำความรู้จักคลองสายนี้ให้มากขึ้นด้วยกันครับ
หลายคนที่เคยสัญจรผ่านเส้นทางขนาบคลองผดุงฯ มาโดยตลอด ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ อาจเคยสังเกตเห็นเรือโดยสารลำย่อม วิ่งไปมาระหว่างเส้นทางหัวลำโพง-เทเวศร์ ผ่านเขตสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ถึง 6 เขต สะพานข้ามคลองจุดหลักๆ ถึง 8 สะพาน การเดินเรือนี้เกิดขึ้นภายใต้ “โครงการเดินเรือโดยสารคลองผดุงกรุงเกษม” การทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อสร้างกับเส้นทางสัญจรทางน้ำให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ ภายใต้คอนเซ็ปท์ “รถ - เรือ - ราง” ที่แตกต่างจากโครงการเดินเรืออื่น ก็คือเรือในโครงการนี้ขับเคลื่อนโดยพลังงานไฟฟ้า จึงเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางขนส่งมวลชนสีเขียวก็ว่าได้
เรือลำแรกเคลื่อนออกจากท่าหัวลำโพงราว 6 โมงเช้า จังหวะที่เรารู้สึกถึงการเดินทางๆน้ำที่ดีกว่า จากเรือพลังงานไฟฟ้าที่ไร้เสียงและกลิ่นของน้ำมัน การได้นั่งทอดสัมผัสอยู่บนเรือนั้นเปรียบได้เหมือนหลบหลุมหลบภัยที่ค่อยๆ พาเราไปตามเส้นทางที่ทอดยาวในคลอง เรามองเห็นท้องถนนจากด้านบนทั้ง 2 ฝั่ง แม้จะใกล้แต่ไม่ทำให้รู้สึกขัดตา วิวตึกรามบ้านช่อง ขนาบข้างด้วยไม้ใหญ่ สลับการได้เห็นสะพานข้ามคลองที่ตกแต่งให้เข้าบริบทความเป็นย่านเมืองเก่า ยิ่งทำให้เช้านี้ของเราสงบงามเป็นไหนๆ ใครจะเล่าความรู้สึกนี้ได้ดีเท่ากับผู้มีหน้าที่ดูแลการเดินเรือใช่ไหมล่ะครับ
“ผมว่าเสน่ห์ของคลองผดุงฯ ที่ไม่เหมือนคลองไหนๆ ในกรุงเทพฯ ก็คือบรรยากาศรอบๆ นี่ล่ะ คุณลองมองไปสิว่าวิวจากต้นทาง ไปถึงปลายทางมันสบายหูสบายตาขนาดไหน ตึกเก่าๆ ที่ดูคลาสสิก ต้นไม้ที่ดูร่มรื่น การตื่นเช้าได้มาเจอบรรยากาศสโลว์ไลฟ์แบบนี้ก็ทำให้อยากมาทำงาน ยิ่งได้เจอผู้โดยสารยิ้มแย้มแจ่มใส บางทีก็ใจดีซื้อของติดไม้ติดมือมาฝาก มันทำให้เรายิ่งอยากบริการเขาอย่างใส่ใจ”
สถาพร พึงชัย พนักงานขับเรือ/นายท้าย
สมุดเล่มเล็กท้ายเรือ ถูกจดบันทึกจำนวนผู้โดยสารในแต่ละท่า เป็นประจำทุกวัน เหตุผลนั้นก็เพื่อรวบรวมสถิตินำไปสู่การพัฒนาต่อไป ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และข้าราชการ เพราะเส้นทางที่เรือผ่าน มีทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ราชการขนาดใหญ่
“ผมนั่งเรือโดยสารในคลองผดุงฯ ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่สำนักงานระบายเค้าทดลองใช้เรือเก็บผักตบมาวิ่ง บอกเลยมันสะดวกจริงๆ ครับ ทั้งประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเสียอารมณ์ไปกับรถติดๆตอนเช้า ถ้า กทม. เค้าฟังเราก็อยากบอกเค้าว่าอย่ายกเลิกโครงการดีๆ แบบนี้เลย จะเก็บตังค์ก็พร้อมจ่าย จะได้เอาไปพัฒนาเรือให้วิ่งกันไปนานๆ”
ข้าราชการกระทรวงพลังงาน
“หนูรู้จักเรือลำนี้ก็เพราะมาฝึกงานที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ค่ะ พี่ๆ ที่กระทรวงบอกว่าให้นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาจากบางซื่อมาลงที่ท่าเทเวศน์ ต่อเรือจากตรงนั้นมาที่กระทรวงได้สบายๆ พอหนูได้ลองครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจ เพราะนอกจากจะสบาย การได้นั่งเรือในคลองยังเหมือนได้ย้อนอดีต”
นักศึกษาราชภัฎธนบุรี
นอกจากการเชื่อมต่อการเดินทางให้สะดวกสบาย เส้นทางสัญจรทางน้ำแห่งนี้ยังมีศักยภาพส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะหลายท่าเรียกได้ว่าเป็น Tourist Spot ที่ มีทั้งย่านเมืองเก่า ตลาดโบราณ และถนนหนทางที่เดินต่อไปชมแลนด์มาร์กใหญ่ๆ ของกรุงเทพฯ ได้ และผู้ที่ให้ข้อมูลสนับสนุนเรื่องนี้ได้อย่างเข้าถึงและโดนใจ ก็คือพี่แกละ เจ้าของ “บ้านมนูสาร Guest House & Cafe” ที่ส่งต่อความรัก ความผูกพันของเธอกับคลองผดุงกรุงเกษมให้กับผู้เข้าพักตลอดมา
“พี่อยู่ที่นี่มาร่วม 3 ปีแล้วค่ะ ส่วนตัวเป็นคนชอบน้ำ ฝันอยากมีบ้านอยู่ริมคลอง วันที่ฝันเป็นจริงก็คือได้เข้ามาทำธุรกิจเกสต์เฮาส์เล็กๆแห่งนี้ ทีมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ข้างบ้าน คลองผดุงกรุงเกษมอยู่หน้าบ้าน บรรยากาศเก่าๆ ย่านเทเวศร์ยิ่งทำให้หลงรัก และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่พี่เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ของย่านนี้ โดยโฟกัสลงไปที่คลองผดุงกรุงเกษม เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาพักเข้าถึงเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ผ่านคลองหน้าบ้านของเราคลองนี้ให้ได้
“พี่เริ่มศึกษาประวัติของคลอง ไปพร้อมๆ กับการนั่งเรือเซอร์เวย์ เก็บข้อมูล เก็บภาพ ทั้งถนน ย่าน ตลาดสำคัญๆ ที่เราผ่าน นั่งไปนานๆ ก็เริ่มรู้สึกอิน มันเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในอดีต ภาพความเป็น The Old Siam จะผุดขึ้นมาในหัวทุกครั้ง ในที่สุดพี่ก็ตัดสินใจจัดทริปล่องคลองผดุงกรุงเกษมให้กับแขกผู้เข้าพัก ความพิเศษของทริปก็คือพี่จะมีหนังสือคู่มือ ที่พี่และอาจารย์สมภพ วัชฤทธิ์ ที่เป็นช่วยทั้งเป็นวิทยากรและเก็บรวบรวมภาพเก่า ข้อมูลน่าสนใจประกอบลงในหนังสือทำมือเล่มนี้
“พี่เชื่อเสมอว่า แม้ว่าเราจะย้อนอดีตไปไม่ได้ แต่เรายังสามารถสร้างใช้แรงบันดาลใจจากอดีตมาให้ความสุขกับคนปัจจุบันได้ การจัดการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมในวันนี้จึงมีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงประวัติศาสตร์ได้ หลายคนเลือกพักกับเราเพราะเค้าชอบการเดินทางในคลอง ลองคิดดูเล่นๆว่าถ้าวันนึงกรุงเทพฯ จำลองอดีต จัดให้มีตลาดน้ำคลองผดุงกรุงเกษมกลับมาอีกครั้ง พี่เชื่อว่าไม่ว่าคนไทย หรือชาวต่างชาติก็จะเข้าถึงวิถี และวัฒนธรรมไทย ผ่านคลอง 2 ทศวรรษแห่งนี้ได้อย่างเข้าถึงค่ะ”
พี่แกะ บ้านมนูสาร
ความหมายของคำว่า “ผดุงกรุงเกษม” ที่หมายถึง “ค้ำจุนบ้านเมืองให้มั่นคงและมั่งคั่ง” เป็นความหมายที่สัมพันธ์กับการสร้างการคมนาคมเพื่อการค้าในยุคแรกของการขุดคลอง ณ วันนี้ “ค้ำจุน” เป็นมากกว่าด้วยการบริการที่เรียกได้ว่า “ค้ำใจ” ความ “มั่นคง” ที่ทำให้ผู้สัญจร “มั่นใจ” ได้ และยังคง “มั่งคั่ง” ต่อไปด้วยจิตสำนึกของคนไทยที่ช่วยกันดูแลทัศนียภาพที่รอบๆคลองให้ยังคงสวยงาม และนี่ก็คือคลองเก่าของเมืองสยาม ที่ตีความโดยความสุขที่ได้จากคลองผดุงกรุงเกษมของคนยุคปัจจุบัน
TOPIC เชื่อมอดีต เชื่อมเมือง ล่องเรือเล่าเรื่องคลองผดุงกรุงเกษม
CREATIVE CONTENT Kasama N.
STORY Praphatsorn M.
PHOTO Wirittipon W.
facebook.com/MANACommunityTH