รีไฟแนนซ์บ้าน ควรเมื่อไหร่ดี
หลายท่านที่ซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย หลังจากผ่อนค่างวดไปสักระยะหนึ่งแล้วหมดโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำ เราจะต้องแบกรับภาระค่าดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งปกติอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบลอยตัว MLR หรือ MRR ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารกำหนด การรีไฟแนนซ์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ย แล้วการรีไฟแนนซ์มีวิธีการยังไงบ้างไปดูข้อมูลที่เรานำมาฝากกันค่ะ
รีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร
รีไฟแนนซ์บ้าน คือ การกู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่จากธนาคารที่เราเป็นหนี้ผ่อนชำระอยู่เดิม หรือจะทำเรื่องกู้เงินจากธนาคารใหม่มาโปะหนี้ธนาคารเดิม ซึ่งการรีไฟแนนซ์นี้สามารถใช้ได้กับการผ่อนบ้าน คอนโด หรือรถ เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วเราจะรีไฟแนนซ์บ้านได้ หลังจากผ่อนมาครบ
3 ปี หรือเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญากู้ธนาคารเดิมที่ระบุไว้ เช่น บางธนาคารอาจจะมีการระบุไว้ว่าห้ามรีไฟแนนซ์ก่อนครบ 3 ปี บางธนาคารอาจระบุไว้ 5 ปี หรือ 7 ปี เป็นต้น
รีไฟแนนซ์บ้านเพื่ออะไร
ประเด็นหลักของการรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อช่วยให้ผ่อนค่างวดได้น้อยลง สรุปง่ายๆ คือ “ทำเรื่องกู้ใหม่อีกรอบ” เพื่อให้ได้ค่างวดและดอกเบี้ยที่ถูกลงนั่นเอง ซึ่งการรีไฟแนนซ์นั้นจะต้องเป็นการกู้เงินที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้กู้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนค่าใช้จ่ายรวมสุทธิทั้งหมดกับหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมก่อนหน้านี้
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน
1. รีไฟแนนซ์บ้าน เอกสารสำคัญทั่วไปที่ต้องใช้มีดังนี้
1.1 สำเนาบัตรประชาชน/ สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมฉบับจริง
1.2 ใบรับรองเงินเดือน นำสลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับรองเงินเดือนปัจจุบัน 3 เดือนย้อนหลัง ใช้เอกสารฉบับจริง
1.3 หากรีไฟแนนซ์บ้านแบบไถ่ถอน ให้นำใบเสร็จการผ่อนชำระย้อนหลัง 24 เดือนมาด้วย
1.4 สำเนาบัญชีเงินฝากแสดงรายการย้อนหลัง 6 เดือน และหลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่น ๆ พร้อมฉบับจริง หรือ Statement พร้อมเซ็นต์รับรอง
1.5 กรณีประกอบวิชาชีพเฉพาะ นำสำเนาใบประกอบวิชาชีพ หรือ ใบอนุญาตประกอบการมาด้วย
1.6 กรณีประกอบธุรกิจส่วนตัว นำสำเนาทะเบียนการค้า หรือทะเบียนบริษัท หรือทะเบียนห้างหุ้นส่วนฯ พร้อมยื่นหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ แนบใบเสร็จตัวจริงจากกรมสรรพากร
ย้อนหลัง 6 เดือน และรูปถ่ายกิจการ จำนวน 3-4 รูป
1.7 สำเนาโฉนดที่ดิน/นส.3ก/หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด/อช.2(2ชุด) พร้อมรับรองจาก สนง.ที่ดิน
2. รีไฟแนนซ์บ้านผ่านธนาคารใหม่มีวิธีการดังนี้
2.1 ติดต่อขอเอกสารสรุปยอดหนี้เงินกู้กับธนาคารเก่า (อาจจะมีค่าใช้จ่าย แล้วแต่นโยบายของแต่ละธนาคาร)
2.2 นำเอกสารสรุปยอดหนี้ที่ได้มา ไปยื่นเพื่อทำเรื่องกู้กับธนาคารแห่งใหม่ ซึ่งเราสามารถยื่นหลายๆ แห่งพร้อมกัน เพื่อเป็นทางเลือกในการพิจาณาเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
และแต่ละธนาคารจะใช้เวลาดำเนินการไม่เท่ากัน
2.3 ทางธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินทรัพย์สินของเรา ในขั้นตอนนี้จะคล้ายกันกับตอนที่ยื่นกู้ครั้งแรก
2.4 ถ้าทำเรื่องผ่านการอนุมัติ ให้ติดต่อไปยังธนาคารเก่าที่เป็นเจ้าหนี้เดิมของเรา สำหรับการนัดวันไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดินธนาคารเดิมจะสรุปยอดหนี้ให้อีก 1 ครั้ง
พร้อมทั้งบอกชื่อผู้รับมอบอำนาจของทางธนาคารซึ่งจะไปทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดิน เราต้องแจ้งยอดหนี้ เป็นเงินต้นกับดอกเบี้ยจนถึงวันไถ่ถอนแก่ธนาคารแห่งใหม่ที่เราไปกู้
2.5 ติดต่อไปยังธนาคารใหม่ นัดวันทำสัญญา+โอนทรัพย์ ที่ใช้จำนองโดยต้องเป็นวันเดียวกับที่นัดกับธนาคารเดิมไว้
2.6 ทำเรื่องโอนที่ สำนักงานที่ดินในเขตที่ของเราตั้งอยู่ ชำระเงินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้เรียบร้อย บางธนาคารอาจจะนำสัญญาไปให้เราเซ็นที่สำนักงานที่ดิน หรือที่สาขา ถ้ามียอดกู้สูงกว่าค่าไถ่ถอน ธนาคารใหม่จะออกเช็คให้เรา 2 ใบ จ่ายให้กับธนาคารเก่าและให้เรา เมื่อชำระค่าต่างๆ เรียบร้อยแล้ว แล้วมอบโฉนดที่ได้มาจากสำนักงานที่ดินให้กับธนาคารแห่งใหม่ที่เราทำการรีไฟแนนซ์ เป็นอันเสร็จสิ้นการกระบวนการโอน
ค่าใช้จ่ายในการ Refinance
ค่าใช้จ่ายในการ Refinance มีหลักๆ อยู่ 4 อย่าง ได้แก่
- ค่าจดจำนองกับกรมที่ดิน 1% ของวงเงิน
- ค่าประเมินราคา ประมาณ 2,000– 3,000 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงิน
- ค่าธรรมเนียมจัดการสินเชื่อ แล้วแต่ธนาคารเรียกเก็บ (หลายธนาคารไม่มี)
จากข้อมูลที่เรานำมาฝากกัน การรีไฟแนนซ์บ้านไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดใช่ไหมคะ หากเราศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบและคำนวณเงื่อนไขของธนาคารอย่างรอบคอบ การรีไฟแนนซ์บ้านก็จะเป็นประโยชน์มากสำหรับเราเลยทีเดียวค่ะ
ที่มา : refinn.com, bkkcitismart.com, mthai.com