เมื่อเราซื้อบ้านหรือคอนโดแล้ว เราจำเป็นต้องทำเรื่องย้ายเข้าทะเบียนบ้านใหม่ที่เราซื้อหรือไม่ ทะเบียนบ้านสำคัญอย่างไร แล้วถ้าเราซื้อบ้านหรือคอนโดไว้หลายแห่งจะต้องทำอย่างไรกับทะเบียนบ้าน แล้วการมีชื่อเจ้าบ้านกับไม่มีชื่อเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน มีข้อแตกต่างกันอย่างไร
จำเป็นต้องทำเรื่องย้ายเข้าทะเบียนบ้านใหม่ไหม?
ตามกฎหมายแล้วทุกคนจะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้แค่ที่เดียวไม่ว่าจะเป็นเจ้าบ้านหรือผู้อาศัย หากเราซื้อบ้านไว้หลายหลังสามารถปล่อยทะเบียนบ้านว่างไว้ได้ โดยการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจะถูกระบุชื่อไว้ในโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์รูปแบบอื่น ๆ แทน
ประโยชน์ของการมีชื่อเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน?
ประโยชน์จากการมีชื่อเจ้าของบ้านหรือคอนโดอยู่ในทะเบียนบ้านคือในกรณีที่เจ้าของบ้านหรือคอนโดต้องการจะขายบ้านหรือคอนโดนั้น หลังจากที่ใส่ชื่อตนเองไว้ในทะเบียนบ้านเกินกว่า 1 ปีแล้ว หากจะขายบ้านหรือคอนโดนั้น จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (ร้อยละ 3.3 ของราคาประเมิน หรือง่ายๆ ล้านละ 30,000 บาท) โดยไม่จำเป็นต้องรอถึง 5 ปี แต่ทั้งนี้ต้องชำระค่าอากร จำนวน ร้อยละ 0.5 จากราคาประเมินแทน
ถ้ามีเจ้าของร่วม ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านกี่คน?
ถ้ามีชื่อในโฉนด 2 คน ก็ต้องมีชื่อทั้ง 2 คน อยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะรวมไปถึงเจ้าของบ้านหรือคอนโดที่มีชื่อในทะเบียนบ้านแล้ว 1 ปี แล้วย้ายออกก็สามารถขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะได้เช่นกัน
ซื้อในนามนิติบุคคล มีสิทธิยกเว้นหรือไม่?
ถ้าซื้อในนามนิติบุคคล ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เมื่อขายบ้านหรือคอนโด ไม่ว่าจะถือครองสั้นกว่า 5 ปี หรือยาวกว่า 5 ปี และถ้าเอาชื่อผู้ถือหุ้นเข้าไปไว้ในทะเบียนบ้านก็ยังต้องเสีย
การแจ้งย้ายปลายทาง
การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง หมายความว่า การแจ้งย้ายที่อยู่โดยผู้ขอแจ้งย้ายสามารถไปขอแจ้งย้ายออก และขอแจ้งย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่ โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปขอแจ้งย้ายออก ณ สำนักทะเบียนเดิมที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ของบ้านที่จะย้ายเข้า
2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งย้าย หรือบัตรประจำตัวตามกฎหมายอื่นพร้อมสำเนาบัตรที่ลงชื่อเจ้าของบัตรกำกับไว้
3. เจ้าบ้านที่จะย้ายเข้าอยู่ใหม่
4. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้าอยู่ใหม่
5. หนังสือยินยอมให้แจ้งย้ายเข้าของเจ้าบ้านที่จะเข้าอยู่ใหม่ (กรณีเจ้าบ้านไม่สามารถไป ดำเนินการแจ้งย้ายได้)
6. หนังสือมอบหมายจากผู้ย้ายที่อยู่ บัตร ฯ พร้อมด้วยสำเนาบัตร ฯ ที่ลงชื่อเจ้าของบัตรกำกับไว้ ทั้งผู้มอบและผู้รับมอบ (กรณีผู้แจ้งย้ายที่อยู่มอบผู้อื่นมาดำเนินการแทน ผู้รับมอบหมาย 1 คน ควรดำเนินการแทนผู้ประสงค์ จะแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางได้ไม่เกิน 3 คน และทั้ง 2 ฝ่ายควรเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไม่ว่าจะเป็นญาติ คนรู้จัก ผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่มีนิติสัมพันธ์)
การแจ้งย้ายเข้า
เมื่อมีผู้ย้ายที่อยู่เข้าอยู่ในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายเข้าภายใน 15 วันนับแต่วันที่ย้ายเข้า อยู่ในบ้าน หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
3. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
5. ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งเจ้าบ้านลงนามยินยอมให้ย้ายเข้าแล้ว
ขั้นตอนในการติดต่อ
1. ยื่นเอกสาร และหลักฐานต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่จะย้ายเข้า
2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และรายการใบแจ้งการย้ายที่อยู่และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) โดยตรวจสอบรายการให้ถูกต้องตรงกัน แล้วมอบสำเนาทะเบียนบ้านและ หลักฐานคืนให้ผู้แจ้ง
การแจ้งย้ายออก
เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
เมื่อผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่จากบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกภายใน 15 วันนับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออก หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
3. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมาย)
5. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ย้ายที่อยู่กรณีแจ้งย้ายที่อยู่ของตนเอง
ขั้นตอนการติดต่อ
1. ยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ถึงแม้ว่าเจ้าบ้านไม่สามารถไปแจ้ง ย้ายออกให้ได้ผู้ที่ย้ายอยู่สามารถขอทำหน้าที่เจ้าบ้านเพื่อย้ายชื่อตนเองออกได้)
2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และรายการบุคคลที่จะย้ายออกลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ และจำหน่ายรายการบุคคลที่ย้ายออกในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) โดยจะประทับคำว่า "ย้าย" สีน้ำเงินไว้หน้ารายการ ฯ และระบุว่าย้ายไปที่ใด
3. นายทะเบียนมอบหลักฐานการแจ้งคืนผู้แจ้ง พร้อมทั้งใบแจ้งย้ายที่อยู่ตอนที่ 1 และ 2 เพื่อนำไปแจ้งย้ายเข้าต่อไป
เราจะได้รับประโยชน์จากการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านใหม่ก็ต่อเมื่อในอนาคต หากเราคิดอยากจะเปลี่ยนมือการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่เราถือครองอยู่ โดยการขอสิทธิยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ หากว่าเราไม่ได้คิดที่จะขายหรือเปลี่ยนมือการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และไม่อยากเสียเวลาไปสำนักงานเขตเพื่อแจ้งชื่อย้ายเข้าย้ายออก การมีชื่อหรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
Cr.checkraka.com, bora.dopa.go.th