ใครอยากมีบ้าน คอนโด เป็นของตัวเองยกมือขึ้น แต่ก่อนอื่นเรามาเตรียมความพร้อมก่อนจะไปกู้สินเชื่อซื้อบ้านกับ 6 เคล็บ(ไม่) ลับที่เรานำมาฝากกันก่อนดีกว่าค่ะ
1. ประเมิณรายได้ ควรมองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่เรามีกำลังจ่ายไหว ไม่ควรซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่เกินตัว โดยพิจารณาจากรายรับ รายจ่ายของแต่ละเดือน และถ้าซื้อที่พักอาศัยแล้วจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จะมีกำลังผ่อนได้ที่เดือนเท่าไหร่ ไม่ว่าคุณจะกู้คนเดียว หรือจะมีผู้กู้ร่วมก็ตาม
2. ศึกษารายละเอียดของแต่ละธนาคาร เงื่อนไขการกู้สินเชื่อของแต่ละธนาคารอาจจะมีข้อเสนอที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะเรื่องอัตราการคิดคำนวนดอกเบี้ย ควรพิจารณาข้อเสนอให้ตรงความต้องการของคุณมากที่สุด เพื่อวางแผนการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนได้อย่างไร้ปัญหา
3. เตรียมเอกสารให้พร้อม
คุณสมบัติของผู้กู้และผู้กู้ร่วม
- มีอายุครบ 20 ปีขึ้นไป
- มีอาชีพและรายได้แน่นอน
- ไม่มีประวัติเสียหายด้านการเงิน
- เมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 65 ปี
เอกสารหลักฐานประกอบการกู้ (ของผู้กู้ ผู้กู้ร่วม และคู่สมรส)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรข้าราชการ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สลิปเงินเดือน (ย้อนหลัง 6 เดือน)
- สำเนารายการบัญชีเงินฝาก (Statement) และหลักฐานแสดงรายได้
- หนังสือรับรองเงินเดือน
- ใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนหย่า (ถ้ามี)
เอกสารหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- สำเนาโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ (กรณีซื้อห้องชุดในอาคารชุด) ที่เสนอเป็นหลักประกัน
- สำเนาสัญญาจะซื้อจะขายหลักทรัพย์ที่เสนอเป็นหลักประกัน
- สำเนาสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและแบบแปลนอาคารที่จะปลูกสร้าง (พิมพ์เขียว) ใบอนุญาตปลูกสร้างอาคาร
- รูปถ่ายแผนที่พอสังเขปของที่อยู่อาศัยที่จะซื้อ
4. ปรับบัญชีให้สมดุล สำหรับพนักงานประจำ ถึงแม้พนักงานประจำมีจะโอกาสอนุมัติสินเชื่อเงินกู้มากว่าผู้มีอาชีพอิสระ แต่เราก็ควรปรับรายได้ดูสวยสมดุลกันก่อนการยื่นกู้ 6 เดือน และในแต่ละเดือนควรเหลือเงินติดบัญชีอยู่บ้าง เพื่อที่ธนาคารจะได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการบริหารเงินของคุณ
- ผู้ที่มีอาชีพอิสระหรือเจ้าของธุรกิจ ถึงแม้จะมีโอกาสได้รับอนุมัตสินเชื่อเงินกู้ยากกว่า ก่อนยื่นกู้คุณควรทำรายการเดินเงินเข้าบัญชีต่อเนื่องทุกเดือน และทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเก็บไว้อย่างน้อย 6-12 เดือน แสดงหลักฐานการเสียภาษีบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เพื่อใช้เป็นเอกสารด้านรายได้ของผู้ยื่นกู้
5. เคลียร์หนี้เก่าให้หมด พยายามปิดหนี้เก่าให้หมดเสียก่อน หรือทำให้มีการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนให้น้อยที่สุด และสำคัญอย่างมากคือการผ่อนชำระหนี้ตรงกำหนด เพราะธนาคารจะนำส่วนนี้มาพิจารณาว่าคุณมีวินัยสามารถผ่อนชำระหนี้ได้หรือไม่ถ้าจะอนุมัติสินเชื่อเงินกู้ให้แก่คุณ หากคุณติดเครดิตบูโรให้ไปชำระปิดหนี้สักระยะก่อนทำการยื่นกู้ เพื่อให้ชื่อลูกหนี้ถูกลบออกจากฐานข้อมูลเครดิตบูโร ก็จะมีโอกาสได้รับการอนุมัติเพิ่มขึ้น
6. เตรียมเงินสำรอง การซื้อบ้านหรือคอนโด จะมีค่าดำเนินการอื่นๆ พ่วงตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ค่าจอง ค่าดาวน์บ้าน ค่าประเมิน ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนอง ค่าส่วนกลาง ฯ หรือหากคุณกู้เงินแล้วไม่ได้ 100% ของราคายื่นกู้ คุณจะต้องมีเงินมาจ่ายส่วนต่างตรงนี้ด้วย คุณควรมีเงินสำรองอย่างน้อยที่สุด 10% ของราคาบ้านฉะนั้นการมีเงินสำรองไว้จะช่วยให้คุณอุ่นใจไม่ต้องพะว้าพะวงหากมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเกิดขึ้น
ถ้าเราเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมความพร้อมกับภาระหนี้ก้อนใหญ่มาเป็นอย่างดี การมีบ้านสักหลังไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดใช่ไหมคะ ขอแสดงความยินดีกับว่าที่เจ้าของบ้านคนใหม่ล่วงหน้าด้วยค่ะ